Southeast Asian Fisheries Development Center/Training Department (SEAFDEC/TD)

Up

พฤติกรรมของปลาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือประมงอวนลาก (Swimming Behavior of Fish in Relation to Fishing Gear: Trawl)

พฤติกรรมของปลาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือประมงอวนลาก (Swimming Behavior of Fish in Relation to Fishing Gear: Trawl)
Swimming_performance_fish-and-Trawl.pdf
File Size:
629.84 kB
Date:
29 March 2021

พฤติกรรมของปลาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือประมงอวนลาก (Swimming Behavior of Fish in Relation to Fishing Gear: Trawl)

ตอนที่ 1: กล้ามเนื้อที่ใช้ในการว่ายน้ำของปลา

กล้ามเนื้อ (ไมโอเมียร์-Myomeres) เป็นแหล่งกาเนิดพลังงานหลักที่ใช้ว่ายน้ำหลักของปลา ซึ่งมีปริมาณอยู่กว่า 80% ของตัวปลา มัดกล้ามเนื้อของปลาจะเรียงไปตามด้านข้างของลำตัวปลา (อาจจะเป็นรูปทรงตัว V หรือ W แล้วแต่ชนิดของปลา) โดยยึดติดกับกระดูกสันหลัง ซึ่งกล้ามเนื้อปลาเป็นส่วนที่เราใช้บริโภคเป็นหลักนั่นเอง การหดตัวของกล้ามเนื้อของลำตัวซ้ายและขวาสลับกัน และการโบกสะบัดของหางอย่างต่อเนื่องคล้ายคลื่น (Oscillation) ทำให้ปลาเกิดการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้

กล้ามเนื้อปลาสามารถจาแนกออกเป็นชนิดของเส้นใยกล้ามเนื้อด้วยสีที่ปรากฏให้เห็น คือ กล้ามเนื้อแดง (Red muscle) กล้ามเนื้อขาว (White muscle) และกล้ามเนื้อชมพู (Pink muscle) มีชั้นเนื้อเยื่อ Myoseptum คั่นระหว่างกลุ่มของกล้ามเนื้อ ไม่ปะปนกัน (ภาพที่ 1) และการทำงานของกล้ามเนื้อแต่ละชนิดจะมีสิ่งเร้าที่แตกต่างกัน กล่าวคือ กล้ามเนื้อแดง จะใช้กับการว่ายน้ำทั่วๆไป ตั้งแต่ความเร็วต่ำไปจนถึงความเร็วสูง แต่สามารถรักษาระดับการว่ายน้ำได้นานๆ กล้ามเนื้อขาว จะถูกใช้กับการว่ายน้ำแบบฉับพลันในช่วงสั้นๆ และยามฉุกเฉินเท่านั้น (เช่น หนีผู้ล่า หนีภัยคุกคามต่างๆ หรือใช้ในการโจมตีเหยื่อ หรือศัตรู) และกล้ามเนื้อชมพู จะถูกใช้งานในการว่ายน้ำในระยะทางไกลๆต่อเนื่อง เป็นกล้ามเนื้อที่ถูกใช้งานในลำดับต่อจากกล้ามเนื้อแดงเมื่อความเร็วเพิ่มขึ้นจนเลยเพดานสูงสุดของความเร็วยั่งยืน ก่อนที่จะขยับไปใช้กล้ามเนื้อขาวมากขึ้นในการว่ายน้ำ ความทนทานในการว่ายน้ำด้วยกล้ามเนื้อขาวจะลดลงตามเวลาที่ใช้กล้ามเนื้อไปเรื่อยๆ

    

 

ตอนที่ 2: ระดับการว่ายน้ำของปลา (Swimming performance of fish)

ในการศึกษาการว่ายน้ำของปลา มักจะกระทำในห้องปฏิบัติการ เนื่องจากในธรรมชาติ เราไม่สามารถควบคุมปัจจัยต่างๆได้ การศึกษาการว่ายน้ำของปลา เราจึงมักใช้เครื่องกำเนิดกระแสน้ำ (Circulating flume tank, ภาพที่ 2) โดยใช้หลักการคือ ให้กระแสน้ำที่สร้างขึ้นด้วยการหมุนของใบพัด หรือ ปั๊มน้ำ ไหลผ่านตัวปลาซึ่งบรรจุอยู่ในอุโมงค์หรือท่อที่สามารถสังเกตการณ์ได้ (ผนังใส) กระแสน้ำที่เคลื่อนผ่านตัวปลาโดยการขับเคลื่อนของใบพัด จะบังคับให้ปลาว่ายน้ำทวนกระแสน้ำที่สร้างขึ้น ดังนั้น ถ้าเราทราบความเร็วของกระแสน้ำที่สร้างขึ้นนั้น และปลาว่ายทวนกระแสน้ำนั้นในตำแหน่งที่คงที่ ความเร็วของกระแสน้ำนั้น ก็คือ ความเร็วในการว่ายน้ำของปลานั่นเอง ซึ่งสามารถควบคุมและให้ความแม่นยำสูง นอกจากนี้ยังสามารถทำการศึกษาถึงพฤติกรรมต่างๆของปลาได้ด้วยวิธีการนี้ด้วย เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ (Heart rate monitor), อัตราการหายใจ (Cardiac output and respiration) ในขณะพัก และขณะว่ายน้ำด้วยความเร็วแตกต่างกัน

นักวิทยาศาสตร์ได้จำแนกระดับของความเร็วและความทนทานในการว่ายน้ำของปลาได้ดังนี้ (Arimoto, T. n.d., ภาพที่ 3)

ระดับที่ 1 (แถบสีเขียว): ความเร็วต่ำสุด (Minimum speed): ความเร็วที่ใช้ในการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า เพื่อรักษาระดับไม่ให้ปลาจมตัวลงเท่านั้น

ระดับที่ 2 (แถบสีเขียว): ความเร็วยั่งยืน (Sustainable speed): เป็นระดับความเร็วที่สูงขึ้นจากระดับต่ำสุด แต่ยังคงสามารถรักษาระดับความเร็วนี้เอาไว้ได้นาน 1-2 ชั่วโมง โดยไม่มีการเหนื่อยล้าของกล้ามเนื้อ ณ ความเร็วระดับนี้ ปลาใช้กล้ามเนื้อแดง (Red muscle) เป็นหลักในการว่ายน้ำ ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่มีเส้นเลือดเป็นจำนวนมากนำออกซิเจนมาหล่อเลี้ยง กล้ามเนื้อแดงจะอยู่ข้างลำตัวของปลา มีสีแดงคล้ำมากกว่าส่วนอื่นของลำตัว (ปลาแซลมอนอาจจะมีสีออกชมพูเนื่องจากเม็ดสีที่สร้างขึ้น) ซึ่งปริมาณของกล้ามเนื้อแดง จะขึ้นอยู่กับชนิดของปลานั้นๆ จะสังเกตเห็นได้ว่า กล้ามเนื้อแดงจะมีสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับกล้ามเนื้อขาว (White muscle) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อส่วนใหญ่ของตัวปลา และกล้ามเนื้อแดงเป็นกล้ามเนื้อหลักที่ปลาใช้ในการว่ายน้ำปรกติโดยไม่มีการเหนื่อยล้า (ตามทฤษฎี) ความเร็วระดับนี้จะอยู่ประมาณ 2 BL/s1 สาหรับปลาหน้าดิน และสูงถึง 6 BL/s ในปลาผิวน้ำที่มีการว่ายน้ำตลอดเวลา (ถ้าเปรียบเทียบเทียบกับมนุษย์ การว่ายน้ำระดับที่ 2 นี้ ก็เทียบได้กับการออกกำลังที่ให้อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ประมาณ 60-70% ของการเต้นสูงสุด (Maximum Heart Rate) หรือ Zone 2 ซึ่งจะขึ้นอยู่กับช่วงอายุด้วย)

ระดับที่ 3 (แถบสีเขียว): ความเร็วสูงสุดที่ยั่งยืน (Maximum sustainable speed): เป็นระดับความเร็วของการว่ายน้ำที่แตะขีดจำกัดบนของความเร็วยั่งยืน กล้ามเนื้อแดงยังคงทำงานเป็นหลักในการว่ายน้ำ โดยยังไม่มีการใช้กล้ามเนื้อขาว (White muscle) ในความเป็นจริง เป็นการยากที่จะหาความเร็วทั้งสามระดับข้างต้นนี้ในปลาแต่ละชนิด ดังนั้นในการศึกษาการว่ายน้ำส่วนใหญ่จึงมักจะมุ่งไปที่การศึกษาที่ระดับความเร็วที่สูงขึ้นกว่านี้ และกระทำในห้องปฏิบัติการ

ระดับที่ 4 (แถบสีเหลือง): ความเร็วยืดเยื้อ (Prolonged speed): เป็นความเร็วในระดับที่กล้ามเนื้อขาว (White muscle) ค่อยๆถูกใช้งานมากขึ้น ตามระยะเวลาที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความทนทานในการว่ายน้ำลดลงไปเรื่อยๆ กล้ามเนื้อเริ่มสะสมความเหนื่อยล้ามากขึ้น โดยทั่วไปกำหนดเวลาอยู่ระหว่าง 20 วินาที จนถึง 200 นาที

ระดับที่ 5 (แถบสีแดง): ความเร็วระดับระเบิดพลัง หรือความเร็วฉับพลัน (Burst speed): เป็นความเร็วเกือบถึงจุดสูงสุดที่ปลาสามารถทำได้ อยู่ที่ประมาณ 8–10 BL/s ขึ้นไป กล้ามเนื้อขาวจะเป็นกล้ามเนื้อหลักที่ใช้ในการว่ายน้ำระดับนี้ ปลาจะใช้พลังงานสะสมเกือบทั้งหมดในกล้ามเนื้อเพื่อรักษาระดับการว่ายน้ำ ซึ่งสามารถกระทำได้เพียงไม่กี่วินาที (≤ 20 วินาที) แล้วก็จะหมดแรงว่ายน้ำในที่สุด จนไม่สามารถรักษาสมดุลตำแหน่งร่างกายเหมือนการว่ายน้ำได้ตามปรกติ (แถบสีแดง) ปลาจะใช้ความเร็วระดับนี้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น การหนีจากผู้ล่า หรือเครื่องมือประมง ใช้ในการล่าเหยื่อ หรือโจมตีศัตรู

ระดับที่ 6 (แถบสีแดง): ความเร็วสูงสุด (Maximum speed): เป็นความเร็วระดับสูงสุดตามทฤษฎีที่ปลาสามารถว่ายน้ำได้ ซึ่งไม่สามารถตรวจวัดได้โดยตรงในการทดสอบการว่ายน้ำของปลา แต่สามารถคำนวณได้จากความสามารถของกล้ามเนื้อในการหดตัว ด้วยการกระตุ้นไฟฟ้าให้กับกล้ามเนื้อปลา (Muscle twitch, muscle twitch contraction time) กระทำในห้องปฏิบัติการ

ตอนที่ 3: เครื่องมือประมงอวนลากกับกลไกการจับปลาและสัตว์น้ำ (Capture process of trawl and fish behavior)

ในกระบวนการจับสัตว์น้ำซึ่งต้องใช้ทั้งเครื่องมือประมงและวิธีการจับสัตว์น้ำ จะต้องใช้เทคนิค วิธีการหรือกลวิธีต่างๆในการควบคุมพฤติกรรมของสัตว์น้ำเป้าหมายเป็นไปตามต้องการ เพื่อให้การจับสัตว์น้ำประสบความสำเร็จ มีอยู่ด้วยกัน 4 วิธีการ คือ 1. การดึงดูด (หรือล่อ)-Attractions เพื่อให้สัตว์น้ำเข้ามาหาสิ่งเร้าหรือสิ่งดึงดูด 2. การไล่ต้อน-Repulsion ส่งผลให้สัตว์น้ำเคลื่อนที่ไปในทิศทางตรงกันข้ามกับสิ่งกระตุ้นหรือสิ่งเร้า ในขณะที่ 3. การกางกั้น-Barriers จะใช้เพื่อจำกัดการเคลื่อนที่ของสัตว์น้ำ และ 4. การกักขัง-Trapping เป็นการป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำหนีออกไปจากพื้นที่หรือบริเวณที่กำหนด

ในการทำประมง มีความจำเป็น และสำคัญที่เรา (หรือชาวประมง) ต้องทำความเข้าใจและรู้ถึงพฤติกรรมของปลา ซึ่งมีพฤติกรรมตอบสนองต่อสิ่งเร้าแตกต่างกันออกไป ในที่นี้ก็คือ เครื่องมือประมง (Fishing gear) หนี่งในพฤติกรรมของปลาที่เรามองเห็นเด่นชัดกว่าอย่างอื่นในเบื้องต้นนี้ก็คือ การว่ายน้ำของปลา (Swimming performance of fish) ที่เราได้ทราบข้างต้นแล้ว ซึ่งประกอบไปด้วยความเร็ว (Swimming speed) และความทนทาน (Endurance) จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจ เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการจับสัตว์น้ำเป้าหมาย หรือเลือกที่จะปล่อยสัตว์น้ำที่ไม่ใช่เป้าหมาย นอกจากนี้ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการช่วยจับสัตว์น้ำ ก็มีความสำคัญไม่น้อยเช่นกัน

ส่วนการทำประมงอวนล้อม จะเป็นการประลองกันระหว่างความเร็วในการว่ายน้ำของปลาเป้าหมายกับความเร็วของเรือ และอัตราการจมตัวของอวนล้อม โดยมีซั้ง (Fish Aggregating Devices-FADs) เป็นตัวช่วยควบคุมฝูงปลา ในการทำประมงอวนลอย ความเร็วในการว่ายน้ำของปลาจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลไกการติดตาอวนของปลา (ตัวปลาและเส้นรอบวงของตาอวน–ขนาดตาอวน) ทั้งสองเครื่องมือดังกล่าวนี้ มีกลไกในการจับสัตว์น้ำที่เกี่ยวข้องกับการว่ายน้ำของปลาทั้งสิ้น

ในขณะที่การทำประมงอวนลากเป็นตัวอย่างในการทดสอบความความเร็วและความทนทานในการว่ายน้ำของปลาได้เป็นอย่างดี (ภาพที่ 5) โดยมีอวนลากเป็นฝ่ายไล่ต้อนฝูงปลาเป้าหมาย ในขณะเริ่มต้นของกระบวนการจับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือประมงอวนลาก อวนลากจะทำหน้าที่ไล่ต้อน (Repulsion) ปลาและสัตว์น้ำให้ว่ายมารวมกันที่ด้านหน้าปากอวนในเส้นทางที่อวนลากเคลื่อนผ่าน ที่ตำแหน่งด้านหน้าสุดของอวนลาก ปลาและสัตว์น้ำจะถูกกระตุ้นด้วยแผ่นตะเฆ่ (Otter boards) และสายกวาด (Sweep lines) ทั้งสองข้าง ซึ่งจะฟุ้งไปด้วยโคลนหรือทราย (Sand cloud) ที่แผ่นตะเฆ่ครูดผ่านไปบนพื้นทะเล ปลาและสัตว์น้ำสามารถรับรู้ได้ถึงการเคลื่อนเข้าหาของอวนลากด้วยตาและเสียง เสียงเครื่องยนต์เรืออาจจะกระตุ้นให้ปลารับรู้ถึงการเคลื่อนที่ของวัตถุได้ก่อนที่ปลาจะมองเห็นทั้งในระยะไกล และใกล้เข้ามา เนื่องจากปลาจะมีส่วนของเส้นข้างตัว (Lateral line) ที่สามารถทำหน้าที่รับรู้แรงสะเทือนของน้ำในระยะกระชั้นชิดในกรณีที่น้ำมีความขุ่นจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา ทรายหรือโคลนที่ฟุ้งกระจายจากการกระทำของแผ่นตะเฆ่สามารถทำหน้าที่กางกั้น (Barrier) ไม่ให้ฝูงปลาและสัตว์น้ำเปลี่ยนทิศทางการว่ายน้ำออกไปจากบริเวณปากอวนที่อวนเคลื่อนผ่าน แม้ว่าทรายหรือโคลนนั้นจะไม่สามารถเป็นอันตรายกับสัตว์น้ำได้ก็ตาม ปีกอวนทำหน้าที่เป็นตัวกางกั้น และจำกัดบริเวณการว่ายน้ำของปลาและสัตว์น้ำให้อยู่ระหว่างปีกอวนทั้งสองข้างตลอดเวลาที่อวนเคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยเช่นกัน และไล่ต้อนปลาและสัตว์น้ำให้เข้าสู่บริเวณปากอวน ถึงแม้ว่าตาอวนของปีกอวนจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวปลาหรือสัตว์น้ำก็ตาม แต่ปลาหรือสัตว์น้ำก็จะไม่ว่ายผ่านหรือลอดออกไป เมื่อปลาและสัตว์น้ำถูกไล่ต้อนและถูกจับอยู่ในอวนลากเรียบร้อยแล้ว แต่ยังคงพยายามรักษาระดับความเร็วการว่ายน้ำให้ไปพร้อมๆกับอวนลาก และระยะห่างระหว่างตัวปลากับผนังอวน โดยไม่ว่ายลอดหนีออกไปตามตาอวน (แม้ว่าจะถ่างและตึงในบางส่วนจนเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสในบางส่วน) เมื่อปลาและสัตว์น้ำเหล่านั้นว่ายน้ำจนอ่อนล้า (ความเร็วในการว่ายน้ำเลยจุดความเร็วยืดเยื้อ-Prolonged speeds มาแล้ว) ในที่สุดก็จะหมดกำลังในการว่ายน้ำ (เลยความเร็วระดับฉับพลันไปแล้ว) และถูกต้อนให้ไปรวมตัวที่ก้นถุงอวน (Cod-end) ในที่สุด ซึ่งก้นถุงอวนจะมีตาอวนขนาดเล็กกว่าปลาและสัตว์น้ำ ทำหน้าที่กักขัง (Trapping) สัตว์น้ำเหล่านั้นเอาไว้ ในกระบวนการจับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือประมงอวนลากนี้ จะไม่มีการดึงดูด หรือล่อ (Attraction) สัตว์น้ำเข้ามาเกี่ยวข้อง

ส่วนของการทำประมงที่ใช้แสงไฟล่อ หรือการใช้เหยื่อล่อ เช่น การทำประมงเบ็ด และลอบจะเป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้วิธีการดึงดูดหรือล่อ เพื่อเพิ่มปริมาณและความหนาแน่นของสัตว์น้ำเข้ามาสู่กระบวนการจับ

 

 

 
 
 
Powered by Phoca Download


Contacts Address

Southeast Asian Fisheries Development Center/Training Department
P.O.Box 97, Phasamutchedi Samut Prakan 10290, Thailand
 This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
  +66 2425 6100
  +66 2425 6110 to 11