หลายปีมาแล้ว ผู้ทำสื่อชุดนี้ เคยเดินตามคุณยายเข้าไปในป่าชายเลน เพื่อเก็บใบขลู่เอามาล้างตากแดดเก็บใส่ขวดแก้วไว้เพื่อชงชา ยายบอกว่า ชาใบขลู่ดีมาก ช่วยลดน้ำตาลในเลือด ใบอ่อนสด ๆ ของขลู่ก็อร่อยดี เอามาลวกจิ้มน้ำพริก หรือทานคู่กับแกงเหลืองจะยิ่งเพิ่มรสชาติความอร่อย และเมื่อโตขึ้นผู้ทำสื่อ ได้อ่านเจอบทความของ  ภก.นวเรศ เหลืองใส โรงพยาบาลสุขสำราญ จังหวัดระนองระบุว่า ตามหลักการแพทย์แผนไทย ถือได้ว่า ขลู่ เป็นสมุนไพรที่ปลอดภัย และสามารถใช้เป็นอาหารได้ อีกทั้งนำมาทำเป็นเครื่องดื่มประเภทชาได้ ตอนนี้หลายหน่วยงานได้ส่งเสริมการนำใบขลู่มาใช้ประโยชน์ เช่น นำมาทำชา น้ำดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ เป็นต้น ผู้ทำสื่อจึงขอเสนอ “วิธีการทำชาใบขลู่” เพื่อให้ผู้สนใจสามารถนำไปทำเพื่อใช้บริโภคเองในครัวเรือน และสามารถเป็นอีกอาชีพเสริมที่สามารถเพิ่มรายได้ให้แก่ครัวเรือนและชุมชนประมงได้

ต้นขลู่

เป็นไม้ทรงพุ่ม สูงประมาณ หนึ่งถึงสองเมตร ลักษณะใบเดี่ยว มีใบเขียวตลอดทั้งปี ทนได้กับทุกสภาวะอากาศ เป็นพืชที่ชอบขึ้นตามลำพังทั่วไป โดยเฉพาะที่มีน้ำเค็ม ขึ้นตามพื้นที่ลุ่มชื้นแฉะ ริมห้วยหนอง ตามหาดทราย หรือป่าชายเลน พบได้ในเขตร้อนชื้น เช่น ประเทศอินเดีย ฟิลิปินส์ มาเลเซีย และประเทศไทย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pluchea indica (L.)
ชื่ออื่นๆ : หนวดงั่ว  หนวดงิ้ว (อุดรธานี), ขลู คลู (ภาคใต้), เพ้อฟาน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ขี้ป้าน (แม่ฮ่องสอน)

ใบขลู่

ใบรูปไข่กลับ กว้าง 1-5 เซนติเมตร ยาว 2.5-10 เซนติเมตร ปลายใบมนและมีขนาดใหญ่กว่าโคนใบ โคนใบสอบ ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อย โดยรอบมีขนขาว ๆ ปกคลุม ก้านใบสั้นมาก เนื้อใบบาง แผ่นใบเรียบเป็นมัน ใบค่อนข้างแข็งและเปราะ มีกลิ่นหอมฉุน  ใบเมื่อนำมาผึ่งให้แห้ง จะมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นน้ำผึ้ง ใบสดจะมีรสอมฝาดเล็กน้อย

วิธีทำชาใบขลู่

  1. เด็ดใบกลาง ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป (แนะนำให้เด็ดใบขลู่ตอนเช้า เพื่อรสชาติชาที่ดีขึ้น)

  2. นำใบขลู่ มาล้างน้ำ สองถึงสามครั้ง จากนั้นนำใบขลู่ไปลวกในน้ำเดือดประมาณ 7-8 นาที  ตักขึ้นแช่น้ำเย็นจัดประมาณ 3 นาที จากนั้นตักขึ้นใส่ตะแกรง พักผึ่งไว้ให้เสด็จน้ำ

  3. นำใบขลู่มาคั่วในกระทะ ใช้ไฟอ่อน แนะนำให้ใช้เตาถ่านเพื่อกลิ่นของใบชาจะได้หอมน่าดื่มมากขึ้น คั่วเรื่อยๆ จนใบขลู่แห้ง จะได้กลิ่นหอมคล้ายน้ำผึ้งอ่อนๆ ออกจากใบขลู่

  4. เมื่อใบขลู่แห้งได้ที่แล้ว ให้นำเข้าเตาอบ หรือไมโครเวฟโดยใช้ความร้อนต่ำๆ อีกรอบ ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าใบขลู่แห้งสนิทจริงๆ

  5. นำชาใบขลู่บรรจุลงขวดแก้วเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือน หรือบรรจุถุงหีบห่อเพื่อจำหน่าย